วันขึ้นปีใหม่ทำไมต้องตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ใครเป็นคนกำหนดว่าจะต้องเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี และวันปีใหม่กับวันปี๋ใหม่เมืองคือวันเดียวกันหรือไม่?
ปีใหม่ คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี และในความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ระบุถึงปีใหม่ไว้ว่า ปี คือ เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลา 365/366 วัน ในเวลา 12 เดือน และ “ปีใหม่” จึงมีความหมายว่า การขึ้นรอบใหม่หลังจากครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี นั่นก็คือ วันที่ 1 เดือนแรกของปีนั่นเอง
สมัยโบราณถือเอาวันแรมค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ แล้วเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ในพ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว ทางราชการได้เห็นว่าควรปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก
การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้แพร่หลายออกมาในต่างจังหวัดในปีต่อมา และปีพ.ศ. 2479 ก็ได้จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด
การฟื้นฟูให้จัดงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน ได้ทำอยู่เพียงไม่กี่ปี คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ ได้เริ่มประชุมเป็นครั้งแรกและคณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม โดยให้ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ. 2483 เป็นปีสุดท้าย ฉะนั้นในปีพ.ศ. 2483 ก็จะมีเพียง 9 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2483 เท่านั้น เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ก็เริ่มต้นพุทธศักราช 2484 ได้เลย
วันที่ 1 เมษายนว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่เรียกว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” เช่นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2480 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 1-2 เมษายน รวม 3 วัน เป็นวันตรุษสงกรานต์ แล้วมีวงเล็บไว้ข้างท้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า (New Year) แสดงว่าในสมัยนั้นเรียกวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน ว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” และพึ่งจะมากำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์และวันหยุดราชการเมื่อปี พ.ศ. 2491
ส่วน วันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา แรกเริ่มเดิมทีจะตรงกับเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง วันปีใหม่ของชาวล้านนานั้นจะเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ ชาวล้านนาจะเรียกว่า “ปี๋ใหม่” โดยการเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ และยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำและขอพรจากผู้ใหญ่
วันปี๋ใหม่เมืองเป็นวันที่ชาวล้านนาให้ความสำคัญกันอย่างมาก เพราะว่า…
- เป็นการเริ่มต้นปีและเป็นการเปลี่ยนปี(ศักราช) ใหม่
- เป็นการย้ำเตือนให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัน วัย และสังขาร
- เป็นการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดี
- เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
ในปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่าวันขึ้นปีใหม่ตามสากลคือ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี แต่สำหรับคนภาคเหนือหรือคนล้านนา ก็ยังให้ความสำคัญกับวันปีใหม่ดั้งเดิมอยู่มาก เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ของคนในท้องถิ่น และในช่วงปีใหม่ (เมือง) นี้ ชาวเหนือจะมีพิธีกรรมต่าง ๆมากมาย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศาสนาหรือชุมชน ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้ลดความสำคัญจากวันปีใหม่ไทย (ช่วงวันสงกรานต์) ให้เป็นเพียงเทศกาลสงกรานต์ และมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามปกติทั่วไป แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่ากับคนภาคเหนือ เพราะฉะนั้นในส่วนของคนเหนือหรือคนเมืองแล้ว แทบจะไม่ได้พูดคำว่า “สงกรานต์” เลย เพราะในภาษาคำเมืองคนส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า “ปี๋ใหม่เมือง” และเรียกวันขึ้นต้นปี 1 มกราคมว่า “ปี๋ใหม่ไทย”
วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นมา โดยถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ในแบบสากล และวันที่ 13 เมษายนคือวันสงกรานต์ของคนไทย แต่สำหรับชาวล้านนาวันที่ 13 เมษายน ก็ยังคงเป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งก็คือ ”วันปี๋ใหม่เมือง” นั่นเอง
แต่ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือปี๋ใหม่ กิจกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานนั่นก็คือ
- การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้านหรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
- การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
- การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รื่นเริง
ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ไทยหรือว่าปีใหม่ล้านนาต่างก็มีความคล้ายคลึงกัน เพราะเป็นการเปลี่ยนหรือเริ่มต้นศักราชใหม่ เพื่อเริ่มต้นชีวิต เป็นการทิ้งสิ่งไม่ดีหรือชำระสะสางสิ่งเก่า ๆ ไว้ในปีเก่าแล้วเดินหน้าต่อไปกับปีใหม่ และไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ไทยหรือว่าปีใหม่ล้านนาก็ทำให้ครอบครัวได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้ทานข้าวพร้อมกันและได้ทำบุญร่วมกันถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในสังคมไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : chiangmainews , silpa-mag