เชียงใหม่วันนี้ 1 มีนาคม 2564 เริ่ม “ฉีดวัคซีนโควิด-19” แล้วให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 กลุ่ม ทยอยฉีดให้ครบภายใน 3 เดือน เริ่มเดือนแรก 3,500 โดส
รูปจาก ข่าวสด
หลังจากที่ ศบค. ได้พิจารณาให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ใน 18 จังหวัดแรกที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ด้วยเหตุผลที่ทางจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดบ่อยและเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 83,500 โดส
ซึ่งเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (1 มีนาคม 2564) ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม ได้มี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงษ์ ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขต 1 นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นพ.สาธารณสุขจ.เชียงใหม่ และนพ.วรเชษฐ เต๋ชะรักษ์ ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันเป็นประธานในการดำเนินการฉีดวัคซีน โควิด-19
โดย 4 กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับโอกาสฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเป้าหมายระยะแรกนั้น ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่จะมีโอกาสสัมผัสโรค เช่น เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด่านคัดกรอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มแรงงาน/กลุ่มประชาชนทั่วไปผู้ที่มีโอกาสจะติดเชื้อจากการประกอบอาชีพ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ฉีดใน 4 กลุ่มเสี่ยงระยะแรกนี้เป็นวัคซีนซิโนแวค จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
รูปจาก ผู้จัดการออนไลน์
จากแหล่งข่าวกรุงเทพธุรกิจได้เผยว่า แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามมติการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยภายในเดือนแรกนี้ เดือนมีนาคม วัคซีนจำนวน 3,500 โดส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,750 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 1,450 คน และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป โดยจะเน้นที่หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าสมาคม และผู้นำองค์กรที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 300 คน ซึ่งจะทำการฉีดที่โรงพยาบาลนครพิงค์ทั้งหมด
รูปจาก ผู้จัดการออนไลน์
รอบเดือนเมษายน วัคซีนจำนวน 32,000 โดส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 16,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7,200 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 500 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 6 กลุ่มโรค 3,800 คน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน เน้นในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 500 คน โดยกระจายการฉีดออกไปในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด และโรงพยาบาลรัฐทุกอำเภอ
รูปจาก กรุงเทพุรกิจ
รอบเดือนพฤษภาคม จำนวน 48,000 โดส ฉีดกลุ่มเสี่ยงจำนวน 24,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,500 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4,500 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 6 กลุ่มโรค 9,000 คน ประชาชนทั่วไปและแรงงาน เน้นในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 2,000 คน โดยกระจายการฉีดออกไปในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด และโรงพยาบาลรัฐทุกอำเภอ
รูปจาก กรุงเทพธุรกิจ
ในขณะที่ประชาชนทั่วไปจะทยอยได้รับวัคซีนกันในระยะที่ 2 ในช่วงเดือน พ.ค. – ธ.ค. ซึ่งจะเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนก้า โดยนายเจริญฤทธิ์คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดภายในปลายปีนี้
ที่มา : ข่าวสด, ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ